วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2562

รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของกรมการศึกษานอกโรงเรียน

รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของกรมการศึกษานอกโรงเรียน
                   กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ (2541 : 2) เปิดโอกาสให้สถานศึกษาพัฒนาหลักสูตรได้เอง โดยพัฒนา “หลักสูตรท้องถิ่น” และให้ความหมายว่า เป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นจากสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนหรือสร้างจากหลักสูตรแกนกลางที่ปรับให้เข้ากับสภาพชีวิตจริงของผู้เรียนตามท้องถิ่นต่างๆ หรือสร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อผู้เรียน หลักสูตรท้องถิ่นมีความสอดคล้อง เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ เน้นการเรียนรู้ชีวิตของตนเอง ปรับตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการ การใช้เทคโนโลยีและข่าวสารข้อมูลในการเรียนรู้ต่างๆ ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามสภาพชีวิตจริงของตนเอง สามารถนำเอาความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ พัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของครอบครัวและท้องถิ่นได้

                        รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของกรมการศึกษานอกโรงเรียนที่นำหลักสูตรแกนกลางมาปรับให้เข้ากับสภาพของผู้เรียน ซึ่งแตกต่างไปตามท้องถิ่นต่างๆ มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้
                ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางที่สัมพันธ์กับสภาพปัญหาของชุมชน
                        การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลาง ครูและผู้เรียนต้องร่วมกันศึกษาหลักสูตรแกนกลางที่กรมการศึกษานอกโรงเรียนสร้างขึ้น กำหนดหมวดวิชาต่างๆ ที่ผู้เรียนแต่ละระดับต้องเรียน เนื้อหาหลักสูตรแกนกลางที่กำหนดเป็นเนื้อหากลางทั่วไปตามหลักทฤษฎีของหมวดวิชานั้นๆ ศึกษารายละเอียดของแต่ละหมวดวิชา วิเคราะห์หัวข้อของเนื้อหาดังนี้
                            1.1 ศึกษาหลักสูตรแกนกลางในระดับที่นำมาจัดการเรียนการสอน (ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย ทุกหมวดวิชา)
                            1.2 วิเคราะห์หัวข้อเนื้อหาที่ต้องพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นตามสภาพปัญหาของชุมชนที่สำรวจมาแล้ว และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของท้องถิ่น
                            1.3 พิจารณาหัวข้อเนื้อหาในหมวดวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องนำมาจัดหมวดหมู่ด้วยกันในลักษณะบูรณาการเนื้อหา

                     ขั้นตอนที่ 2 การจัดหมวดหมู่สภาพปัญหาและความต้องการที่ส่งผลต่อผู้เรียน
                        นำสภาพปัญหาและความต้องการที่สำรวจและวิเคราะห์แล้วมาพิจารณาร่วมกับหัวข้อเนื้อหา หมวดวิชาใดวิชาหนึ่งตามหลักสูตรที่กำหนดเป็นหมวดวิชาแกนในการพัฒนาเป็นหลักสูตรโรงเรียนแล้วจัดหมวดหมู่ของเนื้อหาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการหลังจากนั้นจัดลำดับความสำคัญตามสภาพปัญหาของท้องถิ่นที่พบ              
        
                    ขั้นตอนที่ 3 การเขียนแผนการสอนโดยดำเนินการดังนี้
                            3.1 การกำหนดหัวข้อปัญหา (theme) หัวข้อเนื้อหาของการเรียนการสอน
                            3.2 การเขียนสาระสำคัญ (concept) เป็นบทสรุปใจความสำคัญของเรื่องเน้นความคิดรวบยอด หลักการ ทักษะหรือลักษณะนิสัยที่ต้องการปลูกฝังให้เกิดกับผู้เรียน
                            3.3 การกำหนดขอบเขตเนื้อหา ให้ระบุว่าหัวข้อเนื้อหาครอบคลุมและสัมพันธ์กับ  วิชาใด
                            3.4 กำหนดจุดประสงค์ทั่วไปหรือจุดประสงค์ปลายทางเป็นจุดประสงค์ที่คาดว่าผู้เรียนจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างไร หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ทักษะและทัศนะคติอย่างไรเมื่อเรียนจบเรื่องนั้นแล้ว
                            3.5 การกำหนดจุดประสงค์เฉพาะหรือจุดประสงค์นำทาง เป็นการกำหนดเป้าหมายของการเรียนการสอนในแต่ละหัวเรื่องย่อยที่ปรารถนาให้เกิดกับผู้เรียน นิยมเขียนในลักษณะของจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
                            3.6 การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้กำหนดกิจกรรมตามขั้นตอนของทฤษฎีเชิงระบบ (System Approach)
                            3.7 สื่อการเรียนการสอน ต้องระบุให้ชัดเจนว่าในการเรียนการสอนแต่ละหัวข้อเนื้อหาต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง และสามารถจัดหาจากที่ใด โดยวิธีใด ต้องระบุเป็นรายข้อตามจุดประสงค์
                            3.8 การประเมินผล เป็นการเขียนแนวทางการประเมินผลของการปฏิบัติกิจกรรมแต่ละขั้นตอนตามจุดประสงค์ที่กำหนด โดยให้ผู้เรียนรวบรวมผลงานไว้ นำเสนอครูประจำกลุ่ม โดยการพรรณนางานที่รวบรวมไว้ เกี่ยวกับอะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร ผู้เรียนมีความรู้สึกอย่างไรต่อการรวบรวมผลงาน และมีแนวคิด มีการพัฒนาอะไรต่อไป มีความพึงพอใจกับชิ้นงานมากน้อยเพียงใด

                         ขั้นตอนที่ 4 การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
                        ครูและผู้เรียนร่วมกันพัฒนาโดยมีสถานศึกษาอำนวยความสะดวกและกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตามสภาพจริง ซึ่งสถานศึกษาโดยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเป็นผู้อนุมัติหลักสูตรที่ครูและผู้เรียนร่วมกันพัฒนาขึ้นตามความต้องการทางนโยบายของรัฐความต้องการทางการศึกษาและความต้องการในการพัฒนาตนเองของผู้เรียน โดยมีวิธีดำเนินตามลำดับ ดังนี้
                            4.1 ครูนำหลักสูตรท้องงถิ่นที่พัฒนาแล้ว นำเสนอศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ เพื่อนำเสนอศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเป็นรายภาคเรียน แต่ในกรณีไม่ต้องขออนุมัติใหม่หรือในกรณีหลักสูตรวิชาชีพให้นำเสนอเป็นคราวๆ ไป ที่พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นจากหลักสูตรแกนกลาง
                            4.2 ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดระยะเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตามสภาพความเป็นไปได้ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการหาความรู้ (Input) กระบวนการนำความรู้ที่ได้รับไปปรับ/ประยุกต์ใช้ (Process) และกระบวนการแสดงผลของความรู้หรือการเรียนรู้ที่สามารถประยุกต์ใช้กับชีวิต (Output)
                            4.3 จัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามกระบวนการ โดยยึดวิธีของทฤษฎีเชิงระบบ (Systems Approach: I-P-O)

                         ขั้นตอนที่ 5 การประเมินผล
                        การประเมินผลเน้นการประเมินผลตามสภาพที่แท้จริง (Authentic assessment) ซึ่งประเมินอิงความสามารถและการพัฒนาผู้เรียนมุ่งเน้นความก้าวหน้า การเปลี่ยนแปลงที่เป็นชีวิตจริงของผู้เรียนแต่ละคนสะท้อนให้เห็นสภาพของงานและสิ่งที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติ โดยผู้เรียนเป็นผู้สร้างคำตอบด้านการแสดง การสร้างสรรค์ผลผลิตของงานเป็นการประเมินผลงานของผู้เรียนที่ได้ทำจริง ปฏิบัติจริง  ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการเรียน หรือกระบวนการรวบรวมเหตุการณ์ ข้อมูลที่ผู้เรียนทำได้และแปลความหมายของข้อมูลหรือเหตุการณ์แล้วตัดสินใจจากข้อมูลพื้นฐานเหล่านั้น ในทางปฏิบัตินิยมใช้วิธีการประเมินจากแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงความสามารถ ความก้าวหน้าของผู้เรียน จากการรวบรวมข้อมูลผลผลิต การแสดงออก การประเมินจากสภาพจริง ในงานที่มีความหมายและมีเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนจะสะท้อนถึงความสามารถ การถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับ โครงสร้างและประมวลความรู้ความคิดในขั้นสูงรวมทั้งคุณภาพของการแสดงออกและผลผลิตที่มีคุณภาพ
                      

รูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียน ดังมีผู้เสนอในรูปแบบต่างๆกัน กล่าวโดยสรุปดังตาราง ดังนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น